®  ข่าวสารองค์กร
   

    NEWS |  2016-03-09 02:17:06



จัดทัพทรัคไทย รอจังหวะเออีซี (thairath)


พระเอกของการขนส่งทางน้ำ คือ เรือ ทางอากาศ
คือ เครื่องบิน ส่วนทางบกขึ้นอยู่กับระบบขนส่งทางราง ประเทศใดมีระบบขนส่งทางรางดี มีประสิทธิภาพ พระเอกย่อมได้แก่ รถไฟ แต่ถ้าไร้ประสิทธิภาพ ตำแหน่งพระเอก ย่อมเป็นของ “ทรัค” (TRUCK) หรือรถบรรทุก
หลังจากดูทรงที่ผ่านมาพอจะเห็นทิศทางคร่าวๆว่า ทั้งรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม เน้นทุ่มหน้าตักเร่งพัฒนาไปที่ ระบบขนส่งทางราง มากกว่าโหมดการขนส่งด้านอื่น ทั้งนี้เป็นเพราะใครก็รู้ว่าการขนส่งทางราง ที่มีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศได้เป็นอย่างดี
“โลจิสติกส์” (logistics) ซึ่งหมายถึง การบริหารจัดการเพื่อให้สินค้าส่งถึงมือผู้บริโภค ภายใต้การลดระยะเวลา ลดปัญหา ลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง หรือใช้ต้นทุนที่ต่ำสุด...ซึ่งถือเป็นภาคบริการอย่างแรกของไทย ที่เปิดกว้างให้เพื่อนบ้านอาเซียนสามารถเข้ามาแข่งขัน และเพิ่มสัดส่วนการลงทุนจากเดิม 50% เป็น 70%
แต่หลังจากได้มีการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมาได้ประมาณเดือนเศษ ดูเหมือนภาพความไม่พร้อมของโลจิสติกส์ไทยยังคงดำรงอยู่ ทั้งกรณีที่ไทยยังมีต้นทุนด้านการขนส่งที่สูง และมีโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งที่ไม่เอื้อต่อภาคบริการโลจิสติกส์เท่าใดนัก
ดูได้จากทุกวันนี้เมืองไทยยังต้องใช้ รถบรรทุก หรือ “ทรัค” ในการขนส่งมากกว่า 80%
การขนส่งโดยวิธีนี้ นอกจากมีต้นทุนที่สูงจากราคาเชื้อเพลิง ก่อมลภาวะมากกว่าการขนส่งรูปแบบอื่น ยังโยงกับปัญหาเรื่องการเกิดอุบัติเหตุบนถนน ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาแล้ว อย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา และญี่ปุ่น ใช้การขนส่งทางถนนในสัดส่วนไม่ถึง 50%
ส่วนการขนส่งทางรางหรือรถไฟ แม้จะมีต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำ แต่ยังห่างไกลความพร้อม เพราะทุกวันนี้ทั่วเมืองไทยมีเส้นทางรถไฟประมาณ 4,000 กม. แถมยังประสบปัญหาในเรื่องหัวรถจักรเก่า และระบบรางประสิทธิภาพต่ำ
กระนั้นก็ตาม การขนส่งทางบกยังพอมีข้อได้เปรียบ ทั้งในเรื่องความคุ้มค่า และต้นทุนที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการขนส่งทางอากาศโดยเครื่องบิน และยังเร็วกว่าการขนส่งทางน้ำโดยเรือ
เคยมีความหวังกันไว้ว่า หลังการเปิด AEC ในต้นปีนี้ สมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ จะร่วมกันทลายกำแพงภาษี ทั้งการนำเข้าและส่งออก เพื่อสนับสนุนภาคการลงทุน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนของสินค้า บริการ เม็ดเงินลงทุน แรงงานในภูมิภาคนี้ รวมทั้งการไปมาหาสู่ หรือขนส่งสินค้าข้ามประเทศระหว่างกัน จะเป็นไปอย่างราบรื่น หรือเสรียิ่งกว่าเดิม
แต่ดูเหมือนนาทีนี้ ความหวังดังว่ายังคงริบหรี่
กมล บูรณพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักการขนส่งสินค้า กรมการขนส่งทางบก บอกว่า ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ว่า “พาสปอร์ตรถยนต์” ที่ออกในประเทศไทย สามารถนำไปใช้ได้ใน 7 ประเทศอาเซียนนั้น กรมการขนส่งทางบกขอชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง
ผอ.กมล บอกว่า ความจริงก็คือ ขณะนี้พาสปอร์ตรถยนต์ (เล่มสีม่วง) ที่ออกให้จากเมืองไทยสามารถใช้ได้แค่เฉพาะใน ประเทศลาว เท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามความตกลงร่วมระหว่างไทย-ลาว อนุโลมให้สามารถนำรถยนต์เข้าไปใช้ในประเทศลาวได้ โดยไม่จำกัดจำนวนรถ แต่จำกัดให้ใช้ได้เพียง 7 เส้นทางเท่านั้น
เขาบอกว่า กระนั้นก็ตามในการทำพาสปอร์ตรถยนต์ เพื่อจะนำรถจากเมืองไทยเข้าไปใช้ในประเทศลาว จะต้องเสียค่าธรรมเนียม 55 บาท รวมทั้งต้องทำการเปลี่ยนป้ายทะเบียนรถให้เป็นภาษาอังกฤษ โดยเสียค่าแผ่นป้ายละ 100 บาท จำนวน 2 แผ่น
นอกจากนี้ ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์แบบสมาร์ทการ์ด ซึ่งกรมการขนส่งทางบกออกให้ในปัจจุบัน ซึ่งมีข้อความ 2 ภาษา ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ก็สามารถใช้ในการขับขี่รถยนต์ในประเทศลาวได้ด้วย
กรณีผู้สนใจจะนำรถยนต์จากฝั่งไทยข้ามไปใช้ฝั่งลาว สามารถติดต่อขอหนังสืออนุญาตระหว่างประเทศ หรือพาสปอร์ตรถยนต์ ได้ที่กรมการขนส่งทางบก จตุจักร หรือที่สำนักงานขนส่งจังหวัดทั่วประเทศ โดยแนบหลักฐาน สำเนาสมุดคู่มือจดทะเบียนรถ, บัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของรถ, สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีรถนิติบุคคล) และหนังสือมอบอำนาจ
ส่วน ประเทศกัมพูชา ผอ.กมล บอกว่า ได้มีความตกลงร่วมมือกัน เฉพาะรถโดยสาร กับ รถบรรทุกสินค้า เท่านั้น รถประเภทอื่นยังไม่อนุญาต
ด้าน ไทย กับ มาเลเซีย ยังไม่มีการคุยกันในเรื่องนี้ แต่ก็เริ่มมีท่าทีอยากจะเจรจา
ส่วนไทยกับ สิงคโปร์ ล่าสุดมีข้อตกลงระหว่างไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยมาเลเซียอนุโลมให้สามารถขนส่งได้เฉพาะสินค้าข้ามแดน ที่ มีกำหนดเวลาเน่าเสีย จากไทยข้ามผ่านมาเลเซียไปยังปลายทางที่ประเทศ สิงคโปร์ เช่น นมสด หรือเนื้อสัตว์ โดยมีน้ำหนักรวมกัน ไม่เกิน 3 หมื่นตันต่อปี เท่านั้น
ส่วน ไทย กับ เมียนมา ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนเจรจาสินค้าข้ามแดนในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมาเมียนมายังไม่เคยทำความตกลงทางถนนกับประเทศใดมาก่อน แต่มีความเป็นไปได้ที่จะทำข้อตกลงกับไทย ซึ่งต้องรอดูท่าทีจากรัฐบาลใหม่ของเมียนมาที่กำลังจะจัดตั้งขึ้นด้วย
ถัดมาระหว่าง ไทย กับ เวียดนาม กรมการขนส่งทางบกกำลังประกาศเชิญชวนผู้สนใจที่จะเป็นผู้ประกอบการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่าง ไทย-ลาว-เวียดนาม สามารถยื่นแบบคำขอไปที่กรมการขนส่งทางบก ได้ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2559 ถึง 25 กุมภาพันธ์ 2559
โดยมีข้อสังเกตว่า การจะขนส่งสินค้าโดยรถบรรทุกผ่านจากประเทศไทย ไปยังเวียดนาม ซึ่งต้องผ่านประเทศลาวนั้น ทางลาวเห็นว่า เส้นทางที่ใช้ลาวเป็นทางผ่าน ลาวควรจะได้รับประโยชน์จากการให้ยอมผ่านประเทศของตนด้วย เช่น อาจจะมีการขนถ่ายคน หรือรถ ไปใช้บริการภายในประเทศของเขาอีกทอดหนึ่ง เป็นต้น
ส่วนประเทศอื่นๆในกลุ่มอาเซียนยังไม่มีข้อตกลงร่วมกันในเรื่องนี้
“เหตุที่เพื่อนบ้านบางประเทศยังไม่พร้อมจะเจรจาเรื่องการใช้รถบรรทุกขนส่งสินค้าข้ามแดน เป็นเพราะยังคำนึงถึงหลายเรื่อง เช่น ประสิทธิภาพของถนนในแต่ละประเทศ การเดินรถชิดฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวาของถนน หรือกรณีที่รถของแต่ละประเทศมีพวงมาลัยอยู่ฝั่งซ้าย หรือขวาต่างกัน เช่น ของไทย มาเลเซีย กับสิงคโปร์ ใช้แบบอังกฤษ คือ ขับรถชิดซ้าย และใช้รถพวงมาลัยขวา นอกนั้นขับชิดเลนขวา ใช้พวงมาลัยซ้าย เป็นต้น”
ผอ.กมล บอกว่า นอกจากนี้ แต่ละประเทศยังต้องคำนึงถึงความมั่นคงภายใน รวมทั้งขีดความสามารถที่จะควบคุมดูแล กรณีคนลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือ การลักลอบขนยาเสพติด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม กว่าที่ระบบขนส่งทางราง ทั้งในไทยและเพื่อนบ้านอาเซียนจะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ หรือเชื่อมต่อการใช้งานกันได้ทั้งระบบ คงต้องใช้เวลาอีกหลายปี ระหว่างนี้การขนส่งด้วยรถบรรทุก (Truck) จึงรับบทบาทเป็นตัวนำในการขนส่ง ทั้งภายในประเทศและอาเซียนไปพลางก่อน
กมลมองว่า การยกระดับวิธีขนส่งด้วยรถบรรทุก ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลัก คือ ต้องมีต้นทุนต่ำ และมีบริการที่ถูกใจลูกค้า รถบรรทุกประเทศใดจะเดินไปถึงจุดนั้นได้ ต้องเข้าสู่ระบบมาตรฐานคุณภาพบริการขนส่งสินค้า หรือที่เรียกว่า “คิว มาร์ก” (Q Mark)
“ประเทศใดมีความพร้อมในเรื่องคิว มาร์ก ก่อน ประเทศนั้นย่อมได้เปรียบ ทางกรมจึงเร่งผลักดันในเรื่องนี้”.

http://www.thairath.co.th/content/587138


 

 

 


 
     
 
Copyright 2015 @ 1963 TRANSPORT
เลขที่ 140 ซอยพระรามที่ 2(49) ถนนพระรามที่ 2 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150
โทร : 02-896-5042 E-mail : [email protected]